ของที่นำเข้าทางอากาศยานแบ่งออกเป็น 5 ชนิด คือ...
- ของขวัญ ( Gift )
- ของตัวอย่าง ( Sample )
- ของเอกสิทธิ์ ( Diplomatic )
- ของใช้ส่วนตัว ( Personal Effect )
- สินค้า ( Cargo )
เมื่อผู้นำเข้าได้รับแจ้งจากบริษัทสายการบินว่าสินค้าได้นำเข้ามาแล้วโดยเครื่องบิน เที่ยวที่เท่าใดของบริษัทสายการบินใดแล้ว ผู้นำเข้าจะต้องไปติดต่อกับสายการบินที่รับบรรทุกนั้น เพื่อขอรับเอกสาร Delivery Order ( D/O ) และเอกสาร Airway Bill เสร็จแล้วจึงจัดเตรียมเอกสารต่างๆเพื่อยื่นขอชำระอากร
เอกสารที่ต้องยื่นต่อศุลกากรเพื่อรับมอบหรือตรวจปล่อยของไปจากอารักขาของศุลกากร ได้แก่
- ใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการค้าจำนวน 4 ชุด : ต้นฉบับ 1 ชุด สำเนาคู่ฉบับ 3 ชุด
- บัญชีราคาสินค้า ( Invoice )
- Airway Bill ( ใบตราส่งสินค้าทางอากาศ )
- Delivery Order ( D/O )
- เอกสารอื่นๆ เช่น Packing List , ใบอนุญาตให้นำของเข้า (ถ้ามี)
ปฏิบัติพิธีการคล้ายกับการเก็บอากรปากระวาง คือ ผู้นำของเข้าจัดทำแบบสำแดงสินค้าขาเข้าพิเศษตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนดยื่นเพียงฉบับเดียวโดยไม่มีสำเนา พร้อมกับใบตราส่งสินค้าทางอากาศยาน ( Airway Bill )และ Custom Permit พนักงานศุลกากรจะควบคุมของมาตรวจและตีราคาให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน แล้วจึงให้ชำระค่าภาษีอากรที่พึงต้องชำระและให้ผู้นำของเข้าลงนามรับของในแบบสำแดงสินค้าขาเข้าพิเศษโดยไม่ต้องมีใบสั่งปล่อยศุลกากร
* ของที่ให้ใช้แบบสำแดงสินค้าขาเข้าพิเศษนอกจากเป็นของที่กำหนดไว้แล้ว ยังเป็นของที่ถือว่าเป็นของเล็กน้อย ไม่มีลักษณะเป็นสินค้า ได้แก่...
- หนังสือพิมพ์รายวัน รายปักษ์และภาพข่าว
- ส่วนประกอบของสิ่งอุปกรณ์อากาศยาน ซึ่งนำเข้ามาเพื่อใช้แทนของเก่าหรือเพื่อใช้ซ่อม
- ของผู้โดยสารซึ่งไม่ได้นำติดตัวเข้ามาพร้อมกับตน ( Unaccompanid Baggage ) ซึ่งไม่มีลักษณะเป็นสินค้า
- ของที่่นำเข้ามาแต่ละครั้งมูลค่าไม่เกิน 10,000 บาท (ราคา หมายความว่า ราคาตามกฏหมายศุลกากร )
ของที่ผู้โดยสารนำติดตัวเข้ามา ถ้าไม่มีลักษณะเป็นสินค้า กล่าวคือ เป็นของใช้ส่วนตัวเล็กๆน้อยๆ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ ตามความหมายในประเภทที่ 5 ภาค 4 แห่ง ก.ม. พิกัดฯ ให้จัดเก็บอากรปากระวาง โดยผู้นำเข้า Declare รายละเอียดลงในแบบฟอร์มของติดตัวผู้โดยสารตามแบบที่กรมฯกำหนด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจผู้โดยสารจะดำเนินการประเมินราคาและค่าภาษีอากร แล้วจัดเก็บภาษีอากรเสียเอง โดยออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้นำเข้าไม่ต้องทำใบขนสินค้า
ราคาประเมินสำหรับของนำเข้าทางอากาศยาน
ราคาประเมินเพื่อจัดเก็บภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้าทางอากาศยานให้ใช้ราคา F.O.B. + ค่าประกันภัย + ค่าระวางบรรทุกอากาศยานเป็นราคาพึงประเมิน
หลักเกณฑ์อื่นๆ ในการประเมินราคา ใช้แนวเดียวกับการประเมินราคาสำหรับของนำเข้าทางเรือ ค่าวินิจฉัยพิธีการที่ 1/2508
- ถ้าเป็นของที่นำเข้าทางอากาศยาน ให้บวกค่าระวางทางอากาศเข้าไป ก็เห็นได้ชัดว่ามีราคาสูงกว่าปกติเกินสมควร กรณีเช่นนี้ให้ถือเอาราคา C.I.F. แห่งของนั้น หากจะพึงนำเข้าทางเรือเป็นราคาประเมินเพื่อเก็บอากร
- ในกรณีที่ของนำเข้าทางอากาศ มิใช่เป็นของใช้ส่วนตัว ของขวัญหรือของตัวอย่าง แต่บริษัทการบินผู้รับบรรทุกมิได้คิดค่าระวางจากผู้นำของเข้า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบถามค่าระวางอันพึงต้องเสียแล้วรวมเข้ากับราคาของและค่าประกันภัย
- กรณีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้รับตราส่งคิดราคา C.I.F. ทางเรือแก่ของที่บรรทุกอากาศยานเข้ามา ให้หักค่าระวางอันพึงต้องเสียทางเรือออก แล้วบวกค่าระวางอากาศเข้าไปแทน หากไม่อาจทราบค่าระวางบรรทุกเรือที่จะคำนวณหักออกได้ เพื่อความสะดวกให้คำนวณหักออกในอัตรา 10 % ของราคาของสินค้า
ผู้ส่งสินค้าจะต้องยื่นเอกสารต่างๆ เช่น เดียวกับการส่งของออกทางเรือ คือ
- ใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้า 3 ชุด : ต้นฉบับ 1 ชุด + สำเนา 2 ชุด
- Invoice
- เอกสารอื่นๆ เช่น Packing List, ใบอนุญาตส่งออก (ถ้ามี)
ของเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่ถือว่ามีลักษณะเป็นสินค้า โดยผู้ส่งออกยื่นแบบสำแดงสินค้าขาออกพิเศษเพียงฉบับเดียว โดยไม่ต้องมีสำเนาแทนการยื่นใบขนสินค้าขาออกตามปกติ *แต่ต้องมี Airway Bill ซึ่งบริษัทการบินออกให้แนบติดมาด้วย
* เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะประทับตรากรมศุลกากรคร่อมระหว่างใบตราสินค้าทางอากาศกับแบบสำแดงสินค้าขาออกพิเศษเมื่อผ่านการตรวจ และเสียค่าภาษีอากรแล้ว จะได้รับการมัดลวดตีตราศุลกากรที่หีบห่อ และมอบให้เจ้าหน้าที่บริษัทการบินรับมอบหีบห่อ และแบบสำแดงสินค้าขาออกพิเศษไปบรรทุกอากาศยานต่อไป
ของที่ให้ใช้แบบสำแดงสินค้าขาออกพิเศษ ให้ถือเป็นใบขนสินค้าพิเศษ ใช้สำหรับของยกเว้นอากรที่ส่งออก ดังต่อไปนี้...
- ของตัวอย่าง ของขวัญ
- สิ่งตีพิมพ์ เอกสาร หรือรายงานต่างๆ
- ฟิล์มภาพยนต์ ข่าว เหตุการณ์ต่างๆ
- Tape Record บันทึกข่าวหรือเหตุการณ์ต่างๆ
- ส่วนประกอบและสิ่งอุปกรณ์อากาศยาน
- หนังสือพิมพ์รายวัน รายคาบ รายปักษ์ และภาพข่าว
- ของผู้โดยสาร ซึ่งไม่นำออกไปพร้อมกับตน และไม่มีลักษณะเป็นสินค้า ตามข้อแรก - ข้อ 4 และต้องมีราคาไม่เกิน 10,000 บาท