เอกสารการส่งออก

เขียนโดย Annrora ที่ 02:25
เอกสารการส่งออก

เอกสารการส่งออก แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 

1. เอกสารการเงิน ( Financial Documents ) ได้แก่

    - ตั๋วแลกเงิน ( Bill of Exchange )
    - ตั๋วสัญญาใช้เงิน ( Promissory Note )
    - เช็ค ( Cheque ) / ใบเสร็จรับเงิน ( Receipt )

2. เอกสารทางการค้า ( Commercial Documents ) ได้แก่

     2.1    ใบกำกับสินค้า ( Invoice ) : เป็นเอกสารที่ผู้ขายจัดทำขึ้นเพื่อส่งให้กับผู้ซื้อ และใช้กับพิธีการส่งสินค้าออก ข้อความในใบกำกับสินค้านี้จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า ปริมาณ ราคา/หน่วย ราคารวม เครื่องหมายการค้า ข้อตกลงในการส่งมอบสินค้า ( เช่น CFR LONDON, CIF NEW YORK, FOB BANGKOK ) เงื่อนไขในการชำระเงิน ( เช่น L/C SIGHT, USANCE 60 DAYS ) ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อผู้ขาย รายละเอียดหรือการรับรองข้อความใดๆ ใน INVOICE จะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขใน L/C ด้วย

     2.2     เอกสารการขนส่ง ( Transport Documents ) แบ่งออกเป็น 
             
               2.2.1 ใบตราส่งสินค้าทางทะเล ( BILL OF LADING ) 
   



                from : www.siaminternational.com
คลิกมี่รูปเพื่อขยาย

เป็นเอกสารสัญญาของบริษัทเรือที่ออกให้แก่ผู้ขายเพื่อเป็นหลักฐานว่า 
  -  ได้รับสินค้า ( RECEIPT ) จากผู้ขายแล้ว เพื่อทำการขนส่ง
 -  เป็นสัญญา ( CONTRACT ) ว่าจะส่งสินค้าดังกล่าว จากท่าต้นทางไปยังท่าปลายทางตามที่ผู้ขายกำหนด มีทั้งการขนส่งด้วยเรืออเนกประสงค์ระบบเก่าธรรมดา ( CONVENTIONAL ) หรือการเช่าเหมาเรือ ( CHARTERING ) หรือการขนส่งด้วยเรือระบบคอนเทนเนอร์ ( CONTAINERIZED ) และการขนส่งโดยใช้พาหนะต่างประเทศ ตั้งแต่ 2 ประเภทขึ้นไป ( MULTIMODAL TRANSPORT )
-     เป็นตราสารแสดงสิทธิของผู้ทรง ( A DOCUMENT OF TITLE )

     ใครก็ตามเป็นผู้ทรงใบตราส่งสินค้าใดๆ ผู้นั้นมีสิทธิในสินค้านั้นและสามารถโอนสิทธิได้ด้วยการสลักหลัง ดังนั้นจึงถือว่า B/L เป็นเอกสารโอนสิทธิได้ ( NEGOTIABLE DOCUMENT )

รายละเอียดของ B/L ประกอบด้วย 
  • ชื่อแสดงรูปแบบของ B/L 
  • ชื่อบริษัทผู้ส่งสินค้า 
  • ชื่อผู้รับสินค้า
  • ชื่อบริษัทผู้รับขนสินค้า
  • ท่าเรือต้นทาง - ปลายทาง 
  • จำนวนสินค้า 
  • น้ำหนัก 
  • ชนิดของหีบห่อ 
  • เครื่องหมายการค้า 
  • จำนวนใบตราส่งที่ออกในชุดนั้น
  • วันที่
  • สถานที่ออกใบตราส่งสินค้า 
  • ผู้รับภาระค่าระวางเรือ
     ผู้ส่งออกควรตรวจรายละเอียดของใบตราส่งสินค้าให้ตรงกับเงื่อนไขที่ L/C ต้องการ เพราะ ถ้าแตกต่างไปจากข้อกำหนดของ L/C แล้ว อาจจะเกิดปัญหาเรื่องธนาคารไม่ยอมรับซื้อเอกสารดังกล่าว และผู้ซื้อเองอาจจะนำมาเป็นเหตุผลในการปฏิเสธการจ่ายเงิน นอกจากนี้ ผู้ส่งออกควรจะศึกษารายละเอียดในเงื่อนไขของบริษัทผู้ขนส่งสินค้าให้รัดกุม เพราะหากเกิดความเสียหายกับสินค้าที่ส่งแล้ว จะสามารถเรียกร้องได้ถูกต้อง

               2.2.2 ใบตราส่งสินค้าทางอากาศ  ( AIR WAYBILL ) 


from : www.parcelshippingsystem.com
คลิกที่รูปเพื่อขยาย

     เป็นเพียงเอกสารใบรับสินค้า ( RECEIPT ) และสัญญาขนส่งสินค้า ( CONTRACT ) เท่านั้น ไม่สามารถจะนำมาใช้เป็นเอกสารแสดงสิทธิ ( DOCUMENT OF TITLE )

     ใบ AIR WAYBILL ที่ใช้เป็นหลักฐานแสดงรายละเอียดของสินค้า และรายละเอียดเกี่ยวกับการบิน รวมถึงแสดงน้ำหนักของสินค้าที่ขน บริษัทการบินจะออกต้นฉบับให้ 3 ใบ ได้แก่

  • ใบที่หนึ่ง (FOR THE AIRPLANE )  แนบไปกับเครื่องบิน
  • ใบที่สอง ( FOR THE AIRCRAFT ) แนบไปกับสายการบิน
  • ใบที่สาม ( FOR SHIPPER ) สำหรับผู้ส่งออกใช้ต้นฉบับใบที่สาม + เอกสารการส่งออก เพื่อยื่นต่อธนาคาร 
AIR WAYBILL ต้นฉบับทุกใบจะระบุว่า " NOT NEGOTIABLE " หมายความว่า " ห้ามเปลี่ยนมือ " เพราะ AWB ไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิ และใช้โอนสิทธิ์ไม่ได้


การขนส่งทางอากาศเป็นวิธีการขนส่งที่เร็วที่สุดและค่าระวางในการขนส่งแพงที่สุดด้วย โดยมากจะใช้กับการขนส่ง ดังต่อไปนี้...

  • สินค้ามูลค่าสูง แต่ขนาดเล็ก : เครื่องประดับ อัญมณี
  • สินค้าที่เน่าเสียง่าย : พืช ผัก ผลไม้
  • สินค้าที่ต้องส่งให้ทันเทศกาล : เทศกาลคริสต์มาส
  • สินค้าที่ต้องการเร่งด่วน : เครื่องจักร อะไหล่บางชนิด
  • สินค้าสมัยนิยม : สินค้าแฟชั่นต่างๆ 
              2.2.3 ใบรับรองการส่งไปรษณีย์ ( POSTAL RECEIPT )
          เป็นวิธีการขนส่งชนิดหนึ่งที่รวดเร็วและไว้ใจได้ มักจะใช้กับการส่งสินค้าที่มีขนาดหีบห่อเล็ก ไม่เกิดขนาดที่อนุญาตให้ส่งทางไปรณีย์อากาศได้ ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในใบรับรองนี้จะต้องสมบูรณ์ ครบถ้วนตามความเป็นจริง และมีการประทับตราสินค้าหรือลงลายมือชื่อ ว่าได้รับสินค้าแล้วจริง หรืออาจจะมีข้อความอื่นๆที่ L/C ต้องการ

              2.2.4 ใบตราส่งทางรถไฟ ( RAILWAY RECEIPT )
          เป็นใบแสดงการรับสินค้าไว้บนระวางรถไฟ เพื่อจัดส่งต่อไปยังปลายทางซึ่งส่วนมากจะเป็นเขตชายแดนภาคใต้เชื่อมต่อประเทศมาเลเซีย ใบตราส่งออกโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จะต้องมีการลงชื่อ และเลขประจำตัวของนายสถานี ณ สถานีต้นทาง นอกจากนี้จะต้องระบุวันที่ส่งของ ชื่อผู้รับปลายทาง และวันที่จ่ายของให้ผู้รับ ใบตราส่งทางรถไฟไม่ต้องสลักหลัง เพราะไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิ

              2.2.5 ใบตราส่งทางบก ( TRUCK BILL OF LADING ) 
                 ใบตราส่งชนิดนี้ ออกโดยบริษัทเจ้าของรถบรรทุกเอกชน หรือองค์กรของรัฐที่บริการด้านรถบรรทุกสินค้าที่ใช้เส้นทางคมนาคมทางถนน เช่น องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ( ร.ส.พ. ) / บริษัทขนส่งจำกัด ( บ.ข.ส. ) / บริษัทขนส่งทางบกของเอกชนอื่นๆ
ใบตราส่งชนิดนี้ไม่ต้องสลักหลัง เพราะไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิื            


              2.2.6 ใบรับสินค้าเพื่อเตรียมจัดส่ง ( CARGO RECEIPT/ FORWARDER ) 
                 เพื่อแสดงว่าได้รับสินค้าไว้แล้ว และจะจัดการส่งต่อ ลงเรือภายหลัง ข้อมูลต่างๆที่ปรากฏอยู่ในใบรับสินค้าดังกล่าว จะคล้ายกับที่ระบุใน B/L ต่างกันที่ว่าจะมีข้อความว่า " RECEIVED FOR SHIPMENT " ( รับไว้เพื่อเตรียมส่ง ) หรืออาจจะระบุว่า " SHIPPED ON BOARD " แต่พิจารณาจะเห็นว่าไม่มีคำว่า
" BILL OF LADING " และใบรับสินค้าจะต้องมีการลงชื่อหรือได้รับรองด้วยวิธีอื่นๆ โดยนายหน้าผู้รับขน ซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนที่ลูกค้าแต่งตั้งให้กระทำการแทน หรือมีฐานะเสมอเหมือน CARRIER หรือ MULTIMODAL TRANSPORT OPERATOR

     2.3 เอกสารการประกันภัย 
           ใบกรมธรรม์ประกันภัย เป็นสัญญาระหว่างผู้รับประกันฝ่ายหนึ่งซึ่งตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกัน ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องเสียเบี้ยประกันในกรณีที่มีภัย ( ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ) เกิดขึ้นแก่สินค้าเอาประกัน

เอกสารการประกันภัย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 

  1. ใบกรมธรรม์ประกันภัย ( INSURANCE POLICY )
    ข้อความสำคัญในกรมธรรม์ ประกอบด้วย...
    - ชื่อผู้เอาประกัน
    - ชื่อเรือ
    - วันที่ส่งสินค้า
    - จำนวนเงินที่เอาประกัน ( ปกติให้บวกเพิ่มได้ 10 % จากราคา CIF หรือ CIP ของ INVOICE )
    - วันที่ออกกรมธรรม์
    - สินค้าที่เอาประกัน
    - เงื่อนไขในการคุ้มครองภัย CFPA / ประเภท C / WA / ประเภท B, ALL RISK / ประเภท A )
    - ชื่อผู้รับประโยชน์ปลายทางหรืออาจใช้สลักหลัง
    - สถานที่ติดต่อหรือสถานที่จ่ายเงินชดใช้กรณีเกิดความเสียหายขึ้น
  2. ใบรับรองการประกันภัย ( INSURANCE CERTIFICATE )
    อาจใช้แทน INSURANCE POLICY ได้ ถ้า L/C ไม่ได้ห้าม แต่ BROKER'S COVER NOTE ( ใบบันทึกประกันภัยที่นายหน้าประกันภัยออกให้ ) นั้นใช้ไม่ได้ เว้นแต่ L/C จะอนุญาต ข้อความสำคัญในใบรับรองการประกันภัยจะเหมือนกับในใบกรมธรรม์ประกันภัย
     2.4 เอกสารอื่นๆ ( OTHER DOCUMENTS )

           2.4.1 ใบรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้า ( CERTIFICATE OF ORIGIN )
                     
ใช้เพื่อขอลดหย่อนตามสิทธิพิเศษทางภาษีอากรในประเทศของผู้ซื้อ และใช้เป็หลักฐานรับรองว่า สินค้าดังกล่าวไม่ขัดต่อกฏเกณฑ์การนำเข้าของประเทศผูู้ซื้อ ผู้ออกเอกสารรับรองแหล่งกำเนิดนี้อาจจะออกโดยใครก็ได้แล้วแต่ L/C จะกำหนด เช่น ออกโดยผู้ส่งออก สภาหอการค้าไทย กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมไทย บริษัทคนกลาง 
           2.4.2  ใบแสดงจำนวนบรรจุหีบห่อ ( PACKING LIST )
                           
เป็นใบแสดงการบรรจุของสินค้าในหีบห่อ ไม่มีราคาสินค้าเข้าเกี่ยวข้อง นอกจากนี้นังระบุจำนวนสินค้า น้ำหนักขั้นต้น ( GROSS WEIGHT ) น้ำหนักสุทธิ ( NET WEIGHT ) ขนาดปริมาตรของหีบห่อ ( MEASUREMENT ) รายละเอียดของสินค้าและเครื่องหมายการค้า
          2.4.3   ใบรับรองน้ำหนัก  ( CERTIFICATE OF WEIGHT )
                               
เป็นใบแสดงน้ำหนักของสินค้าตามที่ปรากฏอยู่ใน INVOICE โดยจะมีรายการน้ำหนักขั้นต้น ( GROSS WEIGHT ) และน้ำหนักสุทธิ ( NET WEIGHT ) ของสินค้าและหีบห่อแต่ละชิ้นที่จะต้องสอดคล้องกับเอกสารส่งออกอื่นๆ L/C บางฉบับอาจจะขอ WEIGHT LIST แทน ซึ่งสาระสำคัญก็เหมือนกับ CERTIFICATE OF WEIGHT เพียงแต่จะแสดงรายละเอียดมากขึ้นของน้ำหนักแต่ละหน่วย ( UNIT WEIGHT )
          2.4.4 ใบรับรองด้านสุขอนามัย ( HEALTH CERTIFICATE )
                             
เป็นใบรับรองซึ่งออกโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรับรองว่าสินค้าปราศจากเชื้อโรค และเหมาะที่จะใช้ในการบริโภค
          2.4.5 ใบรับรองอนามัยและปราศจากเชื้อโรค ( SANITARY CERTIFICATE )
                             
ออกโดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับรองว่าสินค้าปราศจากสาารเคมี มีความสดเพราะเก็บไว้ในตู้รักษาอุณหภูมิ -18 ' C ปราศจากเชื้อโรค เหมาะสมต่อการบริโภค
          2.4.6 ใบรับรองการตรวจสอบสินค้า ( CERTIFICATE OF INSPECTION )
                             
อาจจะออกโดยองค์กรของรัฐบาล หรือหน่วยงานเอกชน หรือตาม L/C กำหนยดมา ทั้งนี้เพื่อผู้ซื้อจะได้มั่นใจว่าสินค้าที่ซื้อขายกันนี้ มีคุณภาพดี ถูกต้องตามข้อตกลงที่ทำไว้กับผู้ขาย
          2.4.7 ใบรับรองของผู้ขาย ( BENEFICIARYS' CERTIFICATE ) 
                                 เป็นใบรับรองที่ผู้ขายออกเอง เพื่อรับรองว่าการกระทำตามข้อตกลงและเงื่อนไขตามที่กำหนดให้แล้ว 

เอกสารที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารทางการเงิน เอกสารการค้าต่างๆ ผู้ขายจำเป็นจะต้องระมัดระวังในความถูกต้อง เนื้อหาให้สอดคล้องตามข้อกำหนดของ L/C และจะต้องนำเอกสารตามที่ระบุไว้ ไปยื่นต่อธนาคารในขอบเขตของวันและเวลาที่กำหนดไว้ใน L/C และภายใต้ UCP 500


สรุป
MIND MAP เอกสารการส่งออก

คลิกที่รูปเพื่อขยาย



                   


 

Annrora's Brains Template by Ipietoon Blogger Template | Gadget Review