การชำระเงินทางการค้าโดยเปิด LETTER OF CREDIT

เขียนโดย Annrora ที่ 01:06
การชำระเงินทางการค้าโดยเปิด LETTER OF CREDIT

การขอเปิด LETTER OF CREDIT เพื่อการสั่งสินค้าเข้า
  1. หลังจากผู้ซื้อสินค้าได้เจรจาขอซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศและได้ทำสัญญาข้อตกลงซื้อ-ขาย สินค้าระหว่างกันเรียบร้อยแล้ว จึงมาติดต่อธนาคารเพื่อขอลงเงินในการเปิด L/C โดยนำหลักทรัพย์มาเป็นหลักประกันตามที่ธนาคารต้องการ และเพื่อความสะดวกในภายหน้า ผู้ซื้อควรขอเปิดวงเงินประเภท TRUST RECEIPT ควบคู่พร้อมไปด้วย 
  2. ผู้ซื้อดำเนินการกรอกรายละเอียดในใบคำขอเปิด L/C ( APPLICATION FOR OPENING OF LETTER OF CREDIT ) ซึ่งขอแบบฟอร์มได้จากธนาคาร โดยกรอกข้อความให้ครบถ้วนตรงกับสัญญาซื้อขาย หรือ PROFORMA INVOICE ที่ได้รับจากผู้ขายสินค้า 
  3. ยื่นหลักฐานในการซื้อ-ขาย ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น
    3.1 ) ใบเสนอราคา ( PROFORMA INVOICE )
    3.2 ) สัญญาซื้อ - ขาย ( CONTRACT )
    3.3 ) สัญญาขาย ( SALES CONTRACT )
    3.4 ) สัญญาซื้อ ( PURCHASE CONTRACT )
    3.5 ) ใบยืนยันการซื้อ ( PURCHASE CONFIRMATION )
    3.6 ) คำสั่งซื้อ ( ORDER )
  4. หลังจากผ่านการตรวจเอกสารที่ยื่นขอเปิด L/C แล้ว ธนาคารของผู้ซื้อจะดำเนินการเปิด L/C ไปยังธนาคารของผู้ขายในต่างประเทศ พร้อมกับเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จากผู้ขอเปิด L/C ซึ่งค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการเปิด L/C ( ตามอัตราที่ธนาคารกำหนด ) ค่าไปรษณียากร ค่า TELEX/S.W.I.F.T. และอื่นๆ ( ถ้ามี )
  5. เมื่อธนาคารผู้เปิด L/C ได้รับเอกสารต้นฉบับแล้ว หากเอกสารระบุให้ชำระเงินทันที ( SIGHT ) จะแจ้งให้ผู้ซื้อมาชำระเงิน แต่ถ้าหากเอกสารระบุให้จ่ายเงิน โดยมีกำหนดระยะเวลา ( USANCE ) จะแจ้งให้ผู้ซื้อมารับรองตั๋ว จึงจะส่งมอบเอกสารต้นฉบับให้แก่ผู้ซื้อ เพื่อไปดำเนินการออกสินค้า


การแก้ไข LETTER OF CREDIT ( AMENDMENT )

          เมื่อธนาคารผู้เปิด L/C ได้ทำการเปิด L/C ตามคำขอของผู้ซื้อ ไปยังธนาคารของผู้ขายในต่างประเทศแล้ว ต่อมาภายหลัง ผู้ซื้อจำเป็นต้องยื่นคำขอทำการแก้ไขข้อความบางอย่างที่ระบุไว้ใน L/C ฉบับเดิม อาทิ เช่น 
  • การลดหรือเพิ่ม หรือแก้ไขจำนวนเงินของ L/C 
  • การเพิ่มหรือลดราคาสินค้า
  • การเพิ่มหรือลดจำนวนสินค้า
  • การขยายระยะเวลาของการส่งสินค้า
  • การขยายวันหมดอายุของ L/C 
  • การเปลี่ยนแปลงการส่งสินค้าแบบบางส่วนได้ ( PARTIAL SHIPMENT )
  • การเปลี่ยนแปลงการส่งสินค้าให้สามารถถ่ายเรือได้ ( TRANSHIPMENT )
  • ผู้ซื้อ - ผู้ขาย ต้องการยกเลิก L/C
  • เงื่อนไขอื่นๆ
การขอแก้ไข L/C เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อ ที่จะต้องยื่นหนังสือคำขอแก้ไขเครดิต ( APPLICATION OF AMENDMENT TO L/C ) หรือจดหมายจากผู้ซื้อต่อธนาคารทุกครั้ง พร้อมทั้งหลักฐานยินยอมจากผู้ขาย ที่ให้แก้ไขเครดิตได้ เมื่อธนาคารอนุมัติคำขอแก้ไขดังกล่าวแล้ว จะดำเนินการแก้ไข L/C โดยปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการเปิด L/C ไปยังธนาคารของผู้ขาย หลังจากทำการแก้ไข L/C แล้ว ธนาคารจะเก็บค่าธรรมเนียมการแก้ไขแต่ละครั้ง บวกด้วยค่าไปรษณียากร หรือค่า TELEX / S.W.I.F.T. ที่ใช้ในการติดต่อแก้ไขนั้น
   
เอกสารสินค้าเข้าตาม LETTER OF CREDIT
     
          เมื่อผู้รับผลประโยชน์ ( BENEFICIARY ) ได้รับต้นฉบับ L/C ซึ่งออกโดยธนาคารของผู้ซื้อ ( ISSUING BANK ) ผ่านมายังธนาคารของผู้แจ้งเปิด L/C (ADVISING BANK ) ในประเทศของผู้ขายแล้ว ผู้ขายจะดำเนินการเตรียมสินค้าเพื่อส่งออก และเมื่อส่งออกสินค้าแล้ว ก็จะจัดเตรียมเอกสารตามที่ L/C กำหนด มายื่นแก่ธนาคารของตน เพื่อส่งไปเรียกเก็บเงินยังธนาคารของผู้ซื้อ
           
   เอกสารที่ส่งไปเรียกเก็บเงินยังธนาคารของผู้ซื้อ ได้แก่
  1. ตั๋วแลกเงิน หรือ ใบเสร็จ ( BILL OF EXCHANGE / RECEIPT )
  2. ใบกำกับราคาสินค้า ( INVOICE )
  3. เอกสารการขนส่งสินค้า ( TRANSPORT DOCUMENTS )
    - ใบตราขนส่งทางเรือ ( BILL OF LADING )
    - ใบรับขนสินค้าทางอากาศ ( AIR WAYBILL / AIR CONSIGNMENT NOTE )
    - ใบรับส่งพัสดุทางไปรษณีย์ ( PARCEL POST RECEIPT )
    - ใบรับส่งพัสดุทางรถไฟ
  4. ใบรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้า ( CERTIFICATE OF ORIGIN )
  5. เอกสารการบรรจุหีบห่อ ( PACKING LIST )
  6. กรมธรรม์ประกันภัย ( INSURANCE POLICY / CERTIFICATE )
  7. ใบรับรองอื่นๆ ( OTHER CERTIFICATES )
เอกสารเรียกเก็บเงินสินค้าขาเข้า ( IMPORT BILL FOR COLLECTION )
       
            " BILL FOR COLLECTION หรือ B/C " คือ ตั๋วเรียกเก็บที่ธนาคารผู้ซื้อ ( COLLECTING BANK ) ได้รับจากธนาคารผู้ขาย ( REMITTING BANK ) เพื่อเรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อหรือให้ผู้ซื้อรับรองตั๋ว เมื่อ COLLECTING BANK เรียกเก็บเงินไำด้แล้ว จะโอนเงินตามมูลค่าของตั๋วไปให้ผู้ขายโดยไม่มีข้อผูกพันใดๆ การค้าขายโดยวิธีนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายค่อนข้างจะไว้วางใจและมีติดต่อกันมานาน ตั๋วเรียกเก็บนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 
  1. D/A ( DOCUMENTS AGAINST ACCEPTANCE )
  2. D/P ( DOCUMENTS AGAINST PAYMENT ) แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
    - D/P SIGHT
    - D/P TERM 
การส่งมอบเอกสารเรียกเก็บ ( B/C )

          เมื่อธนาคารได้รับตั๋วเรียกเก็บและเอกสารส่งสินค้าจาก REMITTING BANK แล้ว ธนาคารจะทำหน้าที่จัดการเรียกเก็บเงินตามตั๋วนั้น และรายงานผลการเรียกเก็บให้ทราบเท่านั้น โดยธนาคารจะถือปฏิบัติตามคำสั่งของ REMITTING BANK เช่น ถ้าตั๋วเป็น เทอม D/P SIGHT ก็จะส่งมอบเอกสารดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ เมื่อได้รับการชำระเงินเท่านั้น สำหรับตั๋ว D/A ธนาคารจะส่งมอบเอกสารให้แก่ผู้ซื้อ ก็ต่อเมื่อ ผู้ซื้อได้เซ็นรับรองตั๋ว และเรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อเมื่อครบกำหนด แต่ธนาคารจะไม่รับยผิดชอบในกรณีที่ผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงิน 
          เมื่อธนาคารได้รับเงินจากผู้ซื้อแล้ว ก็จะจัดการโอนเงิน หรือมอบอำนาจให้ REMITTING BANK หักบัญชีของธนาคารที่ฝากไว้กับ REMITTING BANK แต่ในกรณีที่ธนาคารเรียกเก็บเงินไม่ได้ ก็จะรีบแจ้งให้ REMITTING BANK ทราบโดยด่วน
          นอกจากธนาคารจะปฏิเสธตามคำสั่งของ REMITTING BANK แล้วธนาคารจะปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับ ตั๋วเรียกเก็บฉบับที่ 522 ( UNIFORM RULES FOR COLLECTION ICC PUBLICATION NO.522 ) ของหอการค้านานชาติ

การออกหนังสือค้ำประกัน ( SHIPPING GUARANTEE )

          เป็นบริการออกหนังสือค้ำประกันเพื่อการออกสินค้าที่ธนาคารมอบให้แก่ผู้ซื้อ เพื่อนำไปยื่นให้แก่บริษัทเรือเพื่อขอรับสินค้า  กรณีที่สินค้ามาถึงก่อนที่ธนาคารจะได้รับเอกสารสินค้าเข้าจากต่างประเทศ  หรือเอกสารอาจมาถึงแล้ว แต่เอกสารเอกสิทธิ์อาจไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถนำไปออกสินค้าไ้ด้  เช่น B/L ไม่มีลายเซ็น หรือมิได้สลักหลัง ดังนั้นหากจะรอการแก้ไขเอกสาร อาจล่าช้าเกินไป มีผลให้ผู้ขายประสบปัญหาการส่งมอบสินค้าล่าช้า หรืออาจเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นถ้าไม่ออกของตามกำหนดระยะเวลาที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ 
          ในการค้ำประกันการออกสินค้า ธนาคารรับรองว่า ธนาคารควรรับผิดชอบและชดใช้ค่าเสียหายทั้งปวงให้แก่บริษัทเรือ ในกรณีที่บริษัทเรือได้มอบสินค้าตามที่ระบุในหนังสือค้ำประกันที่เกิดความเสียหายขึ้น การออกหนังสือค้ำประกัน ทางธนาคารผู้ออก จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์จากผู้ซื้อตามที่ธนาคารกำหนด

เอกสารต่างๆที่ผู้ซื้อ ต้องยื่นเพื่อขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน (SHIPPING GUARANTEE) มีดังนี้

  1. แบบฟอร์ม LETTER OF UNDERTAKING ( คำขอออกหนังสือค้ำประกัน )
  2. แบบฟอร์มหนังสือค้ำประกันจากบริษัทเรือ 
  3. แบบฟอร์ม TRUST RECEIPT ในกรณีลูกค้ามีวงเงิน T/R และขอทำ T/R ด้วย ถ้าไม่ได้ทำ T/R จะต้องชำระค่าสินค้าเต็มมูลค่าที่ขอทำ SHIPPING GUARANTEE 
  4. COPY INVOICE จากผู้ขาย ( ผู้ส่งออก )
  5. COPY B/L ( จากผู้ขายส่งให้ หรือขอจากบริษัทเรือ 
     SHIPPING GUARANTEE ยกเลิกได้โดยการนำต้นฉบับ B/L ซึ่งผู้ซื้อได้สลักหลังเรียบร้อยแล้ว ( ธนาคารเป็นผู้ส่งต้นฉบับ B/L ให้ผู้ซื้อสลักหลัง ) แลกคืนจากบริษัทเรือ 
         ในกรณีที่สินค้าส่งมาทางสายการบิน และทางพัสดุไปรษณีย์มาถึงก่อนเอกสาร ผู้ซื้อสามารถติดต่อสายการบินให้ออก DELIVERY ORDER และยื่นความจำนงต่อธนาคาร ถ้าประสงค์จะออกสินค้าก่อน โดยยื่นแบบฟอร์ม T/R หรือแจ้งชำระเงินค่าสินค้า เพื่อขอให้ธนาคารสลักหลัง DELIVERY ORDER สำหรับสินค้าที่ส่งทางสายการบิน และ PARCEL POST RECEIPT สำหรับสินค้าที่ส่งทางพัสดุไปรษณีย์ เพื่อนำไปออกสินค้า

การให้สินเชื่อสินค้าเข้า ( IMPORT FINANCING )


          เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อมีเงินทุนหมุนเวียนในการสั่งสินค้าเข้า และนำไปปล่อยต่อให้แก่ผู้ขายรายย่อย ธนาคารจึงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้สั่งสินค้าเข้าในรูปของสินเชื่อสินค้าเข้า และนำไปปล่อยต่อ ให้แก่ผู้ขายรายย่อย โดยผู้นำเข้า T/R ต่อธนาคารเพื่อสามารถไปรับสินค้าจากท่าเรือมาจำหน่ายก่อน และชำระคืนธนาคารเมื่อครบกำหนดชำระเงิน โดยกรรมสิทธิในสินค้ายังเป็นของธนาคารอยู่ จนกว่าผู้นำเข้าชำระเงินคืนธนาคารได้เสร็จสิ้น

ลักษณะของวงเงินการให้สินเชื่อ
  1. วงเงินเฉพาะราย : เป็นวงเงินที่ให้แก่ลูกค้า โดยกำหนดจำนวนเงิน จำนวนใดจำนวนหนึ่งเพียงครั้งเดียว หรือผู้ซื้อรายใดรายหนึ่งหรือบางรายที่ลูกค้าต้องการ ลูกค้าประเภทนี้อาจจะเป็นลูกค้าที่สั่งสินค้าประเภทเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้า เมื่อจ่ายเงินแล้วจะยกเลิกวงเงินไปใช้เครดิตประเภทอื่นแทน 
  2. วงเงินชั่วคราว : เป็นวงเงินให้แก่ลูกค้า โดยกำหนดอายุการใช้วงเงิน เช่น วงเงินชั่วคราว 6 เดือน หรือ 1 ปี เมื่อครบอายุวงเงินชั่วคราวแล้ว ถ้าธนาคารพอใจผลการใช้วงเงิน ก็อาจจะพิจารณาให้เป็นวงเงินถาวรได้ 
  3. วงเงินถาวร : เป็นวงเงินที่ให้แก่ลูกค้า โดยลูกค้าสามารถใช้หมุนเวียนภายในวงเงินตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ 
วงเงินสินเชื่อเพื่อการสั่งสินค้าเข้า
     
       การให้สินเชื่อสินค้าเข้า สามารถจำแนกประเภทวงเงินได้ดังนี้


  1. วงเงินเปิด L/C  ผู้ซื้อสั่งให้ธนาคารผู้เปิด L/C ( ISSUING BANK ) ทำการเปิด L/C ไปให้ผู้ขาย โดยที่ L/C ดังกล่าวเป็นหนังสือรับรองว่า ถ้าผู้ขายได้ยื่นเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อกำหนดของ L/C แล้ว ธนาคารผู้เปิด L/C จะจ่ายค่าสินค้าตามเทอมการชำระเงินในตั๋วที่ส่งมาจากธนาคารผู้รับซื้อตั๋ว ( NEGOTIATING BANK ) เป็นการจ่ายเงินแทนผู้ซื้อผ่านธนาคาร ผู้รับซื้อตั๋วไปก่อนเมื่อ ISSUING BANK ได้รับเอกสารการส่งออกจาก Negotiating Bank จะดำเนินการตรวจเอกสารจนแน่ใจว่าถูกต้องตาม L/C ที่เปิดไป แล้วจึงแจ้งและเรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อ ก่อนที่จะมอบเอกสารสิทธิการครอบครองสินค้าให้
  2. วงเงิน T/R ( Trust Receipt ) คือ หนังสือสัญญาที่ลูกค้า (ผู้นำเข้า) ทำไว้ต่อธนาคารเป็นการรับรองว่าธนาคารยังมีสิทธิ์ในสินค้านั้น และมีอำนาจที่จะเรียกกลับคืนได้ทุกเวลา การที่ลูกค้าครอบครองสินค้าก็เพื่อนำไปจำหน่ายเท่านั่น และกระทำไปเพื่อผลประโยชน์ของธนาคาร เมื่อจำหน่ายได้แล้ว จะนำเงินมาชำระคืนให้แก่ธนาคาร  วงเงิน T/R คือการให้สินเชื่อสินค้าเข้าแก่ผู้นำเข้า โดยธนาคารจะเป็นผู้ชำระค่าสินค้าให้ก่อน เมื่อผู้นำเข้าได้รับชำระเงินจากสินค้าที่นำไปขาย ก็จะนำเงินดังกล่าวมาชำระคืนธนาคาร ธนาคารจะตกลงกับลูกค้า โดยให้วงเงินซึ่งตกลงกันไว้ รวมถึงระยะเวลาการชำระเงิน เมื่อครบกำหนดการชำระเงินตาม T/R แล้ว ธนาคารก็จะเรียกเก็บเงินลูกค้าตามมูลค่าของเอกสารที่ส่งมอบให้รวมทั้งดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมการทำ T/R อนึ่ง ผู้นำเข้าสามารถขอกู้เงินได้ทั้งในรูปเงินตราต่างประเทศ หรือในรูปเงินบาท โดยทำตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ต่อธนาคาร หากผู้นำเข้าไม่ต้องการเสี่ยงในเรื่องความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ควรกู้เป็นเงินบาท
  3. วงเงินสินเชื่อ ( L/C LOAN ) เป็นการให้สินเชื่อเฉพาะราย เพื่อสั่งซื้อสินค้าประเภททุนเป็นสินเชื่อระยะยาวในรูปเงินบาท มีระยะเวลาผ่อนชำระเป็นงวดๆ แล้วแต่จะตกลงกัน สำหรับดอกเบี้ยของเงินกู้ประเภทนี้ จะกำหนดในอัตราที่แน่นอนตั้งแต่อนุมัติวงเงิน 
  4. สินเชื่อเงินกู้เพื่อการค้าระหว่างประเทศ ( Export - Import Loan ) เป็นสินเชื่อระยะยาวอีกประเภทหนึ่ง โดยธนาคารจัดหาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ ให้สำหรับใช้ในการชำระค่าสินค้าประเภททุนที่สั่งซื้อจากต่างประเทศผู้ให้กู้นั้นๆ เป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่ตน ซึ่งธนาคารก็จะติดต่อธนาคารในต่างประเทศให้เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้ ( Exim Bank ) ในรูป Export - Import Loan โดยผู้ซื้ออาจจะเป็นผู้กู้โดยตรง โดยมีธนาคารในประเทศ เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ( GUARANTOR ) หรือธนาคารจะเป็นผู้กู้เองและนำมาให้ผู้ซื้อกู้ต่อ ( RELENDING ) โดยเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จากผู้ซื้อไว้ด้วย ธนาคารในประเทศผู้ขายจะปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารในประเทศผู้ซื้อ โดยมีกำหนดระยะเวลาการกู้และอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ เพื่อเป็นการาสนับสนุนผู้ส่งออกสินค้าประเภททุน ในประเทศของตนให้ขายมายังประเทศผู้ซื้อได้


 

Annrora's Brains Template by Ipietoon Blogger Template | Gadget Review